พอกันที! ปลอดภัย(รอ)ไว้ก่อน หยุดวิกฤติตึกถล่มซ้ำซาก

  • 11 May 2020
  • 7162
หางาน,สมัครงาน,งาน,พอกันที! ปลอดภัย(รอ)ไว้ก่อน หยุดวิกฤติตึกถล่มซ้ำซาก

เหตุอาคารถล่มทับคนงานที่จังหวัดปทุมธานี ทำให้คนงานที่กำลังทำงานก่อสร้างเสียชีวิต 14 คน ซึ่งเหตุการณ์ตึกถล่มในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ได้เกิดมาแล้วหลายครั้งในอดีต อาทิ เหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2536 ทําให้มีผู้เสียชีวิตถึง 137 คน หรือเมื่อเร็วๆ นี้ก็ยังพบเหตุก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ย่านสมุทรปราการ พังถล่มลงมาทับคนงานเสียชีวิต

กลายเป็นคำถามว่า ตึกอาคารเหล่านี้ ที่ถล่มทั้งระหว่างก่อสร้าง และใช้งานไปแล้วถล่มลงมา มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน? สู่ตะกอนความสงสัยผสานความวิตกกังวลในมาตรฐานความปลอดภัยอาคารของไทยตามมา

พอกันที! ปลอดภัย(รอ)ไว้ก่อน หยุดวิกฤติตึกถล่มซ้ำซาก

"ปลอดภัยไว้ก่อน" (Safety First) แค่สโลแกนหรือทำจริงจังในหน้างาน?

ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์"ว่า มาตรฐานในเรื่องความปลอดภัยอาคารขึ้นอยู่กับ 2 ส่วน มาตรฐานการออกแบบและมาตรฐานการก่อสร้าง ส่วนแรกมาตรฐานการออกแบบเรามีมาตรฐานที่เป็นสากล กรมโยธาธิการและผังเมืองดูแลเรื่องนี้ ซึ่งกำลังมีการปรับปรุงกฎกระทรวงให้มีความทันสมัยขึ้น ซึ่งมาตรฐานการออกแบบนี้ไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาการก่อสร้างขึ้นอยู่กับผู้รับเหมา ว่าการก่อสร้างได้มาตรฐานอย่างไร

ก่อนอื่นต้องแยกก่อนว่า มาตรฐานกับการปฏิบัติในส่วนของมาตรฐานนั้นทั้งมาตรฐานการออกแบบก่อสร้างมีตัวเอกสารระบุไว้อยู่ ทั้งวิศวกรและผู้รับเหมาต้องทำตามให้ได้มาตรฐาน แต่ว่าเมื่อมาถึงผู้ปฏิบัติคำนวณผิด หรือผู้ปฏิบัติทำการก่อสร้างรีบเร่ง ยกตัวอย่างเช่น หากคอนกรีตที่เทงานยังแห้งกำลังยังไม่พอรับน้ำหนัก แต่ไปดำเนินการก่อสร้างชั้นต่อไป ถ่ายกำลังไปยังชั้นก่อสร้างที่กำลังยังน้อยอยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือในเชิงการปฏิบัติปลอดภัย การก่อสร้างดำเนินการโดยรีบเร่งมาก ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเพียงพอเกิดปัญหาขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นต้องมีความระมัดระวังและตระหนักถึงมาตรฐานความปลอดภัยมาอันดับ 1 ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ การก่อสร้าง 

พอกันที! ปลอดภัย(รอ)ไว้ก่อน หยุดวิกฤติตึกถล่มซ้ำซาก

ทั้งนี้ปัญหาเชิง "การก่อสร้าง" พบว่าไม่มีคนเข้าไปตรวจสอบ หมายถึง หน่วยงานของรัฐที่เข้าไปตรวจสอบ เชิงวิศวกรรม กฎหมายบอกเอาไว้ว่า ไม่ต้องตรวจสอบตรงนี้ อาจถือว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมายตรงนี้ได้ มีเหตุผลว่ากำลังพลเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เพียงพอ ผลักภาระให้ผู้ต้องรับผิดชอบ เป็นของวิศวกรผู้ออกแบบไป อาจต้องมีการตรวจสอบหรือแก้กฎหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาทำการตรวจสอบหรือไม่?

แต่ยังมีทางออกอีกทางหนึ่ง "แบบก่อสร้าง" เป็นเรื่องสำคัญ หากออกแบบผิดพลาด ก่อสร้างอย่างไรก็เป็นอาคารที่มีความอ่อนแอ ซึ่งอาคารที่ออกแบบผิดพลาดอาจจะยังไม่พังในวันนี้ มีตัวอย่างในต่างประเทศใช้งานไปหลายปีแล้ว แล้วพังลงมา ยิ่งปัจจุบันวิศวกรสมัยนี้มีความกล้ามากขึ้นตามบริบทที่แข่งขันสูง พยายามลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาจทำให้เกิดปัญหาความปลอดภัยได้

อุบัติเหตุอาคารคอนโดฯ ถล่ม จ.ปทุมธานี

ขอเพิ่มเติมในเรื่องการออกแบบด้านแผ่นดินไหว กฎหมายให้ออกแบบโครงสร้างของอาคารให้ต้านแผ่นดินไหว เจ้าของอาคารผู้ประกอบการเพิ่มราคาคอนโดฯ แล้วอ้างว่าต้องต้านแผ่นดินไหว จะรู้ได้อย่างไรว่าทำจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่ง

ส่วนตัวได้เสนอแนวคิดนี้หลายครั้งแล้วว่า ถ้าหากเราออกเป็นกฎหมายคุ้มครองบริโภค โดยเป็นกฎหมายกำหนดว่า เจ้าของโครงการที่ขายอาคารให้กับสาธารณชน หรือคอนโดฯ จำเป็นต้องเปิดเผย "แบบก่อสร้างส่วนโครงสร้าง" ที่มีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร

ขอยกตัวอย่างกรณีตึกถล่มเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ไปเพื่อขอตรวจสอบแบบก่อสร้าง ปรากฏว่าไม่มีแบบ ไม่ยอมให้แบบ เพราะฉะนั้น กฎหมายควรออกแบบในแนวทางที่ว่า อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ จะต้องมีการเปิดเผยแบบ และมีแบบประจำอยู่ในงานของอาคารนั้นๆ

มีข้อดี เมื่อผู้บริโภคไปซื้อคอนโดหรืออาคารใดๆ สามารถขอดูแบบได้ ต้านทานแผ่นดินไหวจริงหรือไม่ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้นอกจากนี้เมื่อมีการเปิดเผยแบบเจ้าของโครงการหรือผู้ประกอบการ จำเป็นต้องเปิดเผยทำให้ต้องใส่ใจในกระบวนการขั้นตอนมากขึ้น

พอกันที! ปลอดภัย(รอ)ไว้ก่อน หยุดวิกฤติตึกถล่มซ้ำซาก

ด้านนายปิยะณัฐ วงศ์ประเทศ วิศวกรและนิสิตปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาโยธา สาขาบริหารงานก่อสร้าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ทำงานวิจัยด้านมาตรฐานความปลอดภัยในงานก่อสร้าง) กล่าวว่า กฎหมายในประเทศไทยในงานปฏิบัติงานก่อสร้างเพียงพอและครอบคลุม (กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551) แต่ปัญหาหลักคือคนไม่ปฏิบัติตาม

ปัญหาที่เกิดเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในงานก่อสร้าง แยกได้เป็น 3 สาเหตุหลัก ในประเทศไทย คือ 1. ออกแบบผิดพลาด คนออกแบบผิดพลาด แต่คนก่อสร้างได้ทำงานตามแบบ 2. ก่อสร้างผิด คือ แบบก่อสร้างถูกต้อง แต่คนนำแบบไปทำการก่อสร้างเกิดความผิดพลาด หรือใช้วัสดุไม่มีคุณภาพ หรือว่าใช้วัสดุคุณภาพแต่ไม่ตรงตามแบบ ความผิดพลาดอยู่ที่ ผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน 3.ออกแบบถูกต้อง ก่อสร้างถูกต้อง แต่อุบัติเหตุยังเกิดขึ้นอยู่ เกิดจากคนทำงาน

อีกประการคือ ความมักง่ายในการปฏิบัติงานของแต่ละบุคคลที่ยังมีให้พบเห็นได้ในไซต์งานก่อสร้างของประเทศไทย เช่น ใช้เท้าเตะเครื่องจักร ไม่สวมหมวกป้องกันการกระแทก อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายได้ ระบบความปลอดภัยในงานก่อสร้างของประเทศไทยคือ ปัญหาของผู้รับเหมา ผู้บริหาร คนปฏิบัติงาน เรียกได้ว่าตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง

ความเสียหายจากตึกถล่มทับคนงาน จ.ปทุมธานี

ข้อแนะนำเพิ่มเติม ขอเริ่มต้นที่ฝึกอบรมคนงานก่อนทำงานก่อสร้างอย่างจริงจัง ในบริษัทขนาดใหญ่มีการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบและเคร่งครัด เน้นพัฒนาและปรับเปลี่ยนความคิดของทุกระดับงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารที่ต้องมีนโยบายความปลอดภัยออกมา

ทราบเช่นนี้แล้ว การหันมาให้ความสนใจในระบบการทำงานด้วยความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งตามระเบียบข้อปฏิบัติที่ระบุอย่างเคร่งครัด แม้แต่สโลแกนรณรงค์ด้านความปลอดภัยอย่าง "ปลอดภัยไว้ก่อน" ก็อย่าเพียงปล่อยเป็นการรณรงค์แต่เป็นการนำไปใช้ในงานก่อสร้างอย่างแท้จริง แล้วเราจะไม่ได้เห็นข่าวอุบัติเหตุคาน อาคาร ตึก คอนโดฯใดๆ ถล่มให้คนได้รับอุบัติเหตุ เพื่อเพราะความประมาทอีกต่อไป.

       

 

ขอขอบคุณข่าว และภาพข่าว : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์

JOBBKK.COM © Copyright All Right Reserved

Jobbkk has only one website. In no case, we have an affiliate, agent or appointee. Please do not rely on any other website, email, telephone, SMS or other contacting channel. If it is a case, we will prosecute under a lawsuit in the upmost as allowed. DBD

Top